สหกรณ์วัดจันทร์แห่งแรกประเทศไทย

สหกรณ์แห่งแรกของไทย

พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย คือ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

         หลังจากที่ได้มีการสำรวจพื้นที่และฐานะเศรษฐกิจของราษฎร ทั้งยังได้เตรียมเรื่องการจัดหาทุนจากแบงก์สยามกัมมาจล เพื่อที่จะตั้งขึ้นให้กู้ยืมแล้ว ทางราชการจึงเห็นควรให้มีการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนด้วย ทั้งยังเห็นว่าการที่จะให้สหกรณ์ที่ตั้งขึ้นใหม่มีกฎหมายเฉพาะยังไม่สมควร เพราะยังไม่ทราบว่าจะมีผลเป็นอย่างไร จึงให้ใช้พระราชบัญญัติสมาตมที่มีอยู่แล้วแต่นำมาปรับปรุงใหม่เพื่อให้สามารถคุ้มครอง และสำหรับจดทะเบียนสหกรณ์ที่จะตั้งขึ้นใหม่ได้ จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเพิ่มเติมสมาคม พ.ศ. 2459 จากนั้นได้มีการรับจดทะเบียนขึ้นเป็นครั้งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ เลขที่จดทะเบียน 1/1 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อแรกตั้งมีจำนวนสมาชิก 16 คน ดังรายนามดังนี้

    1. กำนันชุ่ม ใจสุกใส                       
    2. นายกริบ ดีรักษา                      
    3. นายชิด นาดอภิ                             
    4. นางบุญ เกษน้อย                                              
    5. นายบุญ ดีรักษา                       
    6. นายขอม ปานภู่                        
    7. นายสาน สานุ่ม                         
    8. นางลัง มีพยุง   
    9. นายกร่าง  ทับผึ้ง  
    10. นายยอด  สานุ่ม 
    11. นายวิง  มีพยุง   
    12. นายแป๊ะ  มีพยุง  
    13. นายบุญ  เกษน้อย 
    14. นายหลี  เยน่า  
    15. นายพราม  ไม่ระบุนามสกุล          
    16. นายแต้ม  จั่นตอง  

          ซึ่งในจำนวนทั้ง 16 ท่านนี้ ผู้ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือของนายทะเบียนสหกรณ์ 10 ท่าน และเป็นกรรมการชุดแรกของสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ดังนี้

    1. กำนันชุ่ม ใจสุกใส           
    2. นายชิด นาดอภิ                   
    3. นายกริบ ดีรักษา         
    4. นายบุญ เกษน้อย          
    5. นายเอม ปานภู่
    6. นายสาน  สานุ่ม  
    7. นายพราม  ไม่ระบุนามสกุล
    8. นายแต้ม  จั่นตอง 
    9. อำแดงบุญ  ไม่ระบุนามสกุล 
    10. นายบุญ  ดีรักษา              

ทุนจดทะเบียนเมื่อแรกตั้ง จำนวน 3,080 บาท

    1. เงินกู้แบงก์สยามกัมมาจล(ธนาคารไทยพาณิชย์)  3,000 บาท
    2. ค่าหุ้น 80 บาท

          เงินกู้ที่ได้จากแบงก์สยามกัมมาจลเป็นเงิน 3,000 บาทนั้นธนาคารได้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาทต่อปี สหกรณ์ให้สมาชิกกู้เต็มจำนวน โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 12 บาทต่อปี กำหนดให้สมาชิกส่งคืนต้นเงินกู้ในปี 2460 เป็นจำนวนเงิน 1,300 บาท ปรากฏว่าเมื่อสิ้นปี 2460 สมาชิกส่งคืนเงินกู้ได้จริง 1,500 บาท ทั้งดอกเบี้ยได้เต็มทุกรายและในปี 2459 การทำนาของสมาชิกเคยได้ 83.5 เกวียน แต่ปี 2460 ได้ข้าวถึง 125 เกวียน ปริมาณข้าวที่ได้เพิ่มขึ้นนี้ แม้จะไม่มากนัก แต่เป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ ทั้งนี้เนื่องจากในปีแรกสมาชิกได้กู้เงินไปใช้หนี้เก่าเป็นส่วนใหญ่ คงเหลือเงินกู้ไว้เพื่อการประกอบอาชีพเพียงเล็กน้อย ดังนั้นหากสมาชิกหมดหนี้สินที่ผูกพันไว้แล้วมีเงินสำรองซื้อสัตว์พาหนะหรือซื้อที่ดินเพิ่มเติมก็จะทำให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพมากขึ้น

       ผลการตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ จึงไม่พียงแต่จะอำนวยประโยชน์ให้กับสมาชิก ซึ่งอาจวัดได้ด้วยจำนวนเงินที่สมาชิกเป็นหนี้ลดน้อยลงเท่านั้น ยังวัดได้จากการทำนาได้ผลมากขึ้นด้วย ประโยชน์ที่สำคัญยิ่งที่วัดได้ยากนั้น ได้แก่ ความเข้าใจในการทำงาน ช่วยกันคิด ช่วยกันรักษาทรัพย์ และร่วมกันคิดทำมาหากิน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการเป็นอย่างยิ่ง

      ปรากฏว่าเมื่อการจัดตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้เป็นผลดี จึงได้มีการจัดตั้งสหกรณ์หาทุนในเขตตำบลต่างๆ ของอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลกเพิ่มขึ้น จำนวน 49 สหกรณ์ ดังนี้

    • *สหกรณ์จัดหาทุนที่ตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2459-2469 จำนวน 18 สหกรณ์
    • *สหกรณ์จัดหาทุนที่ตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2470-2479 จำนวน 13 สหกรณ์
    • *สหกรณ์จัดหาทุนที่ตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2480-2489 จำนวน   7 สหกรณ์
    • *สหกรณ์จัดหาทุนที่ตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2490-2499 จำนวน 11 สหกรณ์

สหกรณ์แห่งแรกของไทย

*ปี พ.ศ.2469

         รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเข้าอยู่หัวทรงมีความสนพระทัยการสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสที่ได้เสด็จไปทอดพระเนตรการประชุมใหญ่ของสหกรณ์บ้านดอน ไม่จำกัดสินใช้ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2469 ณ วัดบางพระยา อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีพระยาพิพิธสมบัติ (ตาบ ภุวานนท์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม  ดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสหกรณ์ ได้นำสมุดข้อบังคับ บัญชีและเอกสารต่างๆของสหกรณ์ทูลเกล้าถวายเพื่อทอดพระเนตรทั้งยังประทับฟังการประชุมของสหกรณ์ด้วยความสนพระทัยจนสิ้นกระแสความ ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่สมาชิกสหกรณ์ในครั้งนั้น

          ในโอกาสเดียวกันนั้น ได้ทรงบันทึกพระราชหัตถเลขาในสมุดบันทึกการตรวจราชการของสหกรณ์บ้านดอน ไม่จำกัดสินใช้

ศาลาการประชุมคณะกรรมการและสมาชิกของสหกรณ์วัดจันทร์
ไม่จำกัดสินใช้ ก่อนควบสหกรณ์ (ปัจจุบันอยู่ ณ.วัดจันทร์ตะวันออก)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ทอดพระเนตรการประชุมของสมาชิกสหกรณ์บ้านดอน ไม่จำกัดสินใช้ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2469