ประวัติ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.)

         ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของชุมนุมสหกรณ์ระดับจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีสมาชิกเป็นสหกรณ์การเกษตรและเกษตรกรตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ วันที่ 30 พฤษภาคม 2495 มีสถานะเป็นนิติบุคคล ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์ขายส่งแห่งประเทศไทยจำกัดสินใช้” และขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น “ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2518 เป็นต้นมา ใช้ชื่อย่อว่า “ชสท.” โดยมีสมาชิกเป็นชุมนุมสหกรณ์การเกษตรหรือชุมนุมสหกรณ์จังหวัดครอบคลุมสหกรณ์การเกษตร จำนวนประมาณ 3,900 สหกรณ์ มีสมาชิกรวมกันกว่า 6,000,000 ครัวเรือน

         เริ่มก่อตั้ง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2495 “สหกรณ์ขายส่งแห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้” มีสำนักงานตั้งอยู่ในตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2474 (จดทะเบียนที่กระทรวงสหกรณ์ ซึ่งต่อมา พ.ศ. 2506 ยุบเลิกกระทรวงสหกรณ์และโอนงานทั้งหมดไปเป็นของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ)

       “สหกรณ์ขายส่งแห่งประเทศไทยจำกัดสินใช้” จัดได้ว่า เป็นสหกรณ์ระดับสูงหรือเป็นศูนย์กลางของร้านสหกรณ์ทั่วประเทศทำหน้าที่ซื้อขายสินค้า เครื่องอุปโภค บริโภค ส่งให้แก่สหกรณ์ในอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมีสหกรณ์ที่จดทะเบียนเป็นจำนวนมากในสมัยนั้น พ.ศ. 2497 มีสหกรณ์ได้รับการจดทะเบียนถึง 10,338 สหกรณ์ เป็นสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ ถึง 22 ประเภท ตั้งอยู่ในท้องที่ 65 จังหวัด โดยการสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานแหล่งผลิตหรือร้านขายส่งขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ และใกล้เคียงเป็นการลดต้นทุนของสหกรณ์ ได้มีการติดต่อกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศญี่ปุ่น (เซ็นโน) มีการรวบรวมผลผลิต เช่น ข้าวโพด ถั่ว เพื่อส่งออก และมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่าย ผลปรากฏว่า ได้ผลดี แต่เมื่อมีกำไรไม่สามารถปันผลคืนกำไรให้กับสหกรณ์ด้วยกันได้ เพราะผิดข้อบังคับ เพราะเหตุนี้จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับของสหกรณ์ขายส่งแห่งประเทศไทยจำกัดสินใช้ และขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อต่อกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในขณะนั้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “ชุมนุมสหกรณ์การขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2512

          ชุมนุมสหกรณ์การขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด มีฐานะเป็นชุมนุมสหกรณ์ระดับชาติ โดยโอนสมาชิกเดิมมาเป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ใหม่และต่อมาได้มีการขยายรับสหกรณ์ท้องถิ่นเป็นสมาชิกทั่วประเทศ มีทั้งสหกรณ์การเกษตร (สหกรณ์หาทุนที่ควบกัน) สหกรณ์นิคม สหกรณ์เช่าซื้อที่ดิน รวมทั้งชุมนุมสหกรณ์ระดับจังหวัด ธุรกิจในช่วงนี้ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ได้มีการติดต่อกับสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประจำมีการนำเข้าปุ๋ยมาจำหน่าย จนกระทั่งได้มีการเจรจาเกี่ยวกับการร่วมทุนระหว่างสหกรณ์ไทยกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่นและขอจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทร่วมลงทุนขึ้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2513 ใช้ชื่อว่า “บริษัท ที.เจ.ซี เคมี จำกัด” เพื่อประกอบกิจการโรงงานผลิตยาปราบศัตรูพืช เพื่อจำหน่ายแก่สหกรณ์สมาชิก และเกษตรกรทั่วไป ทุนจดทะเบียนครั้งแรก 5 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 60 ล้านบาท ฝ่ายไทย ถือหุ้น 51% ฝ่ายญี่ปุ่น ถือหุ้น 49% การดำเนินงานของบริษัท มีความก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน

          ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2518 ชุมนุมสหกรณ์ฯ มีโครงการซื้อไซโล เพื่อเก็บและอบข้าวโพดส่งไปขายต่างประเทศ จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แต่ข้อบังคับของธนาคารฯ ไม่สามารถให้กู้ได้เพราะชุมนุมสหกรณ์ฯ มีร้านสหกรณ์เป็นสมาชิก จะให้กู้เฉพาะสถาบันที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกเท่านั้น จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่และมีมติให้คืนหุ้นที่ร้านสหกรณ์ถือไว้ให้แก่ร้านสหกรณ์ทั้งหมด คงเหลือไว้แต่หุ้นของสหกรณ์การเกษตรและ ขอจดทะเบียนเปลี่ยนข้อบังคับและเปลี่ยนชื่อเป็น “ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2518 เป็นต้นมา

       ปัจจุบัน ชสท. ได้ย้ายที่ทำการจากแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (เดิม คือ ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร) มาก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 79 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 (ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

          ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด มีวัตถุประสงค์ ส่งเสริมให้สหกรณ์สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามวิธีการสหกรณ์ที่ไม่มุ่งเน้นผลกำไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สหกรณ์และสังคมส่วนรวม ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้หลักคุณธรรมพื้นฐานของสังคมและจริยธรรมอันดีงาม อันมีการประหยัด เป็นต้น รวมทั้งในข้อต่อไปนี้

    • ดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ของชุมนุมสหกรณ์
    • ให้สวัสดิการหรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว
    • ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก
    • ขอหรือรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากทางราชการ หน่วยงานของต่างประเทศหรือบุคคลอื่นใด
    • ให้สินเชื่อ ให้เช่า ให้เช่าซื้อ โอน รับจำนองหรือรับจำนำซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก
    • จัดให้ได้มา ซื้อถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพย์สิน ครอบครอง กู้ ยืม เช่า เช่าซื้อ รับโอนสิทธิการเช่าหรือสิทธิ
      การเช่าซื้อ จำนองหรือจำนำ ขายหรือจำหน่าย ด้วยวิธีอื่นใดซึ่งทรัพย์สิน
    • ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของชุมนุมสหกรณ์
    • ส่งเสริมการพัฒนาสังคม ได้แก่ การศึกษา การพลานามัย และทางจิตใจ ให้รวมกันเป็นสังคมที่มีสันติสุข
    • การกระทำต่าง ๆ ตามที่ชุมนุมสหกรณ์กำหนดไว้ใช้บังคับหรือระเบียบของชุมนุมสหกรณ์ชุมนุมสหกรณ์อาจร่วมธุรกิจหรือร่วมลงทุนกับสหกรณ์สมาชิก หรือสหกรณ์อื่นหรือชุมนุมสหกรณ์อื่น หรือนิติบุคคลอื่น หรือบุคคลอื่น ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของชุมนุมสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่

รวมภาพเกี่ยวกับ ชสท.