ศูนย์เรียนรู้ 100 ปี สหกรณ์ไทย

“ศูนย์เรียนรู้ 100 ปี สหกรณ์ไทย”

ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด

คลิกดูมุมมองภาพรวม 360° ชสท.

ศูนย์เรียนรู้ 100 ปี สหกรณ์ไทย

          สหกรณ์ในประเทศไทย เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 และจะครบรอบ 100 ปี ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 โดยพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย) ทรงเป็นนายทะเบียนจดทะเบียนตั้งสหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ เป็นสหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทย การสหกรณ์ของประเทศไทยได้มีการพัฒนาก้าวหน้ามาตามลำดับ จนถึงปัจจุบันมีสหกรณ์รวม 7 ประเภท ได้แก่

1. สหกรณ์การเกษตร

2. สหกรณ์ประมง

3. สหกรณ์นิคม

4. สหกรณ์ร้านค้า

5. สหกรณ์บริการ

6. สหกรณ์ออมทรัพย์

7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รวม 8,173

    สหกรณ์มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 11.47 ล้านคน มีทุนดำเนินงานรวม 2.17 ล้านล้านบาท ดำเนินกิจการในด้านการผลิต  รวบรวมผลผลิต  ด้านการตลาด  การบริการ  รับฝากเงิน ให้สินเชื่อ ตลอดจนให้การศึกษาอบรมทางด้านวิชาการ  สวัสดิการ และเอื้ออาทรต่อชุมชน ตามอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ โดยมีต้นแบบมาจากสหกรณ์แห่งแรกของโลกที่ก่อกำเนิดมาเมื่อประมาณ 180 ปี ที่ผ่านมา ณ เมืองรอชเดล ประเทศอังกฤษ และได้ขยายตัวไปยังประเทศเยอรมนี และประเทศอื่น ๆทั่วโลก

       เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี สหกรณ์ไทย ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เห็นว่าควรจะจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ 100 ปี สหกรณ์ไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการสหกรณ์ในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพื่อใช้เป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ เด็ก เยาวชนนิสิต  นักศึกษาผู้เกี่ยวข้องในขบวนการสหกรณ์ และประชาชนทั่วไป ตลอดทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน ให้มีความรู้ และทักษะด้านการสหกรณ์ เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกและชุมชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านสหกรณ์ สำหรับเด็ก เยาวชนนิสิต นักศึกษา ผู้เกี่ยวข้องในขบวนการสหกรณ์ และประชาชนทั่วไป ตลอดทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน ได้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านการสหกรณ์ ทั้งด้านข้อมูล วิธีการปฏิบัติงาน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์
    2. เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้นำสหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ในการพัฒนาต่อยอดความคิดในการพัฒนาสหกรณ์ของตน และการพัฒนาสหกรณ์ไทยอย่างยั่งยืน
    3. เพื่อเป็นการเชิดชูพระเกียรติยศแห่งพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย) ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ในการก่อตั้งการสหกรณ์ไทย

กลุ่มเป้าหมาย

          สมาชิกสหกรณ์ เด็ก เยาวชน นิสิต  นักศึกษา  ผู้เกี่ยวข้องในขบวนการสหกรณ์ และประชาชนทั่วไปตลอดทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน

สถานที่จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ 100 ปี สหกรณ์ไทย

         บริเวณอาคารชั้นเดียวฝั่งทิศตะวันตกของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย  จำกัด

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

    1. เด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา ผู้เกี่ยวข้องในขบวนการสหกรณ์ และประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านการสหกรณ์ ทั้งด้านข้อมูล วิธีการปฏิบัติงาน เกิดทักษะทางสหกรณ์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน หรืออาจนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อก่อตั้งสหกรณ์แห่งใหม่
    2. ผู้นำ และสมาชิกสหกรณ์ที่ได้มาศึกษาดูงานในศูนย์เรียนรู้ 100 ปี สหกรณ์ไทย ได้มีพื้นที่สาธารณะในการแลกเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาสหกรณ์ของตน และพัฒนาสหกรณ์ไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
    3. เด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา ผู้เกี่ยวข้องในขบวนการสหกรณ์ และประชาชนทั่วไป ได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย)ที่มีต่อการสหกรณ์ไทย

 

ประกอบด้วย 6 สถานี ประกอบด้วย

สถานีที่ 1  สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการสหกรณ์ เริ่มต้นในสมัย

    • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
    • พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมาหาวิชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
    • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
    • พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8
    • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 9
    • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

สถานีที่ 2  วิวัฒนาการกำเนิดสหกรณ์ของโลก – สหกรณ์ไทย

    • ประวัติสหกรณ์ต่างประเทศ
    • ประวัติสหกรณ์ไทย 7 ประเภท

สถานีที่ 3  ประวัติความเป็นมา 100 ปีสหกรณ์ไทย

    • พระประวัติพระราชวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย
    • ประวัติ “สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ “ จังหวัดพิษณุโลก เป็นสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459

สถานีที่ 4  ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสหกรณ์ไทย

    • ความหมายของสหกรณ์ คือ องค์กรหนึ่งเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ เพื่อดำเนินงานทั้งในด้านความคิดระบบบริหารจัดการผลผลิต และบุคคลโดยใช้หลักประชาธิปไตยเพื่อสนองความต้องการ ( อันจำเป็น ) ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
    • อุดมการณ์สหกรณ์ คือ ความร่วมมือกันที่ว่าการช่วยเหลือตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักการสหกรณ์จะนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม
    • หลักการสหกรณ์ 7 ข้อ ประกอบด้วย
      1. เป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง
      2. การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย
      3. การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก
      4. การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ
      5. การศึกษาฝึกอบรม สารสนเทศ
      6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์
      7. การเอื้ออาทรต่อชุมชน

สถานีที่ 5  ประวัติความเป็นมาสหกรณ์การเกษตร (กำแพงโค้ง)

สถานีที่ 6  การนำเสนอวีทีทัศเกี่ยวกับการดำเนินการของสหกรณ์

       ภายในศูนย์เรียนรู้ 100 ปี สหกรณ์ไทย จะมีแผนผังในการเข้าชมและเรียนรู้ถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสหกรณ์ของประเทศไทย โดยจะแบ่งจุดเรียนรู้ตามแผนผังรูปด้านล่าง

ภายในศูนย์เรียนรู้ประกอบไปด้วยทั้งหมด 6 สถานีเรียนรู้ โดยจะแบ่งเป็นดังนี้

            จุดเรียนรู้ที่ 1: สถาบันพระมหากษัตริย์กับการสหกรณ์ไทย

            จุดเรียนรู้ที่ 2: วิวัฒนาการของสหกรณ์โลก

            จุดเรียนรู้ที่ 3: 100 ปี สหกรณ์ไทย

            จุดเรียนรู้ที่ 4: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสหกรณ์ไทย

            จุดเรียนรู้ที่ 5: เกี่ยวกับสหกรณ์การเกษตร

            จุดเรียนรู้ที่ 6: ห้องฉายภาพยนตร์

จุดเรียนรู้สถานีที่ 1: สถาบันพระมหากษัตริย์กับการสหกรณ์ไทย

        ในจุดเรียนรู้นี้จะเป็นจุดสำหรับดู VDO จากเครื่องฉาย เพื่อเรียนรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับการสหกรณ์ไทย” โดยผู้บรรยายหรือนำเยี่ยมชมสามารถพูดเสริมได้คร่าวๆ ดังนี้

         ในจุดเรียนรู้ที่ 1 นี้เป็นจุดเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาข้อมูลของ สถาบันพระมหากษัตริย์กับการสหกรณ์ไทย โดยมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากปัญหาของชาวนาในปลายสมัยตั้งแต่รัชการที่ 5 ซึ่งส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่อย่างยากจนและมีหนี้สินล้นตัว โดยแต่เดิมการค้าขายยังไม่เจริญก้าวหน้า ชาวนาของเราส่วนมากจึงปลูกข้าวแค่พอเลี้ยงครอบครัวไปชั่วปีหนึ่งๆ รัฐบาลในสมัยนั้นจึงพยายามคิดหาหนทางช่วยเหลือชาวนาไทยที่เดือนร้อนตลอดมา จนปี พ.ศ.2547 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ได้เชิญ เซอร์ เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์ (SIR BERNARD HUNTER) หัวหน้าธนาคารแห่งมัดราช ประเทศอินเดีย เข้ามาสำรวจ หาลู่ทางช่วยเหลือชาวนา ได้เสนอว่าควรจัดตั้ง “ธนาคารให้กู้ยืมแห่งชาติ” ดำเนินการให้กู้ยืมแก่ราษฎร โดยมีที่ดินและหลักทรัพย์อื่นเป็นหลักประกัน เพื่อป้องกันมิให้ชาวนา ที่กู้ยืมเงินทอดทิ้งที่นาหลบหนี้สิน ส่วนการควบคุมเงินกู้และการเรียกเก็บเงินกู้ ท่านได้แนะนำให้จัดตั้งเป็นสมาคมที่เรียกว่า “โคออเปอราทีฟ โซไซตี้” (Cooperative Society) โดยมีหลักการร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งคำนี้ พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “สหกรณ์”  และใช้กันจนตราบเท่าทุกวันนี้

กิจกรรมในจุดนี้

    • ดูคลิปวิดีโอผ่านเครื่องฉายเข้ากำแพง
    • ศึกษาข้อมูลจากบอร์ดกราฟิก ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับพระราชดำรัสของ พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี

บอร์ดข้อมูลสถานีที่ 1

จุดเรียนรู้สถานีที่ 2: วิวัฒนาการของสหกรณ์โลก

            เป็นการศึกษาผ่านบอร์ดแสดงข้อมูล โดยจะแสดงตามบอร์ดข้อมูล ดังนี้

    1. บอร์ดที่ 1 Timeline วิวัฒนาการของสหกรณ์ โดยแสดงการกำเนิดสหกรณ์ของโลก และกำเนิดสหกรณ์ไทยซึ่งแสดงเป็น ปี ค.ศ. เทียบกับ พ.ศ. โดยจะเริ่มตั้งแต่การทดลองจัดตั้ง “ชมรมสหกรณ์” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ นิวฮาโมนี รัฐอินเดียนาเมื่อปี พ.ศ.2368 (ค.ศ.1825)ในชื่อว่า นิวฮาโมนี (New harmony) ของ โรเบอร์ต โอเวน(Robert Owen) และไล่ตามลำดับตามข้อมูลบนบอร์ดมาจนถึง รูปสหกรณ์วัดจันทร์ (ตรงส่วนนี้ให้เชื่อมโยงมายังจุดเรียนรู้ที่ 3 เพื่อที่จะได้เรียนรู้ 100 ปีสหกรณ์ไทย และพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย แล้วค่อยย้อนกลับมาบอร์ดที่เหลือได้)
    2. บอร์ดที่ 2 แสดงนำเสนอข้อมูลสหกรณ์ในต่างประเทศ
    3. บอร์ดที่ 3 แสดงนำเสนอข้อมูล สหกรณ์ของประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียน (AEC)
    4. บอร์ดที่ 4 แสดงนำเสนอข้อมูลสหกรณ์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการนำเสนอ สหกรณ์ 7 ประเภท

กิจกรรมในจุดนี้

    • ศึกษาข้อมูลจากบอร์ด
    • ศึกษาข้อมูลจากบอร์ดที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดู โดยในบอร์ดของ AEC สามารถเปิดป้ายข้อมูลดูได้จากธงแต่ละประเทศ และบอร์ด สหกรณ์ 7 ประเภทสามารถเลื่อนป้ายข้อมูลเพื่ออ่านเรียนรู้ความรู้ที่ซ่อนอยู่ด้านใน

 

หมายเหตุ: ระหว่างอธิบายเกี่ยวกับบอร์ดของ Timeline ผู้บรรยายสามารถ โยงตรงกำเนิดสหกรณ์วัดจันทร์ฯ มายังจุดเรียนรู้ที่ 3 ได้ก่อนเพื่อโยงเข้าข้อมูลของ 100 ปีสหกรณ์ไทย

บอร์ดที่ 1 Timeline

บอร์ดที่ 2 สหกรณ์ในต่างประเทศ

บอร์ดที่ 3 สหกรณ์ของประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียน (AEC)

บอร์ดที่ 4 แสดงนำเสนอข้อมูลสหกรณ์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการนำเสนอ สหกรณ์ 7 ประเภท

จุดเรียนรู้สถานีที่ 3: 100 ปี สหกรณ์ไทย

            ในจุดเรียนรู้นี้จะเป็นจุดสำหรับดู VDO จากเครื่องฉาย เพื่อเรียนรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ

    1. จุดเริ่มต้นสหกรณ์ไทย
      • ปีพุทธศักราช 2459 สหกรณ์ถูกนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ และสังคมไทย สืบเนื่องจากการที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ คิดจะทดลองจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาความยากจน พระราชวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้เป็นประธานในการค้นเลือกระบบวิธีการสหกรณ์ในต่างประเทศมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพของเกษตรกรไทย โดยได้ทรงเลือกแบบไรฟ์ไฟเซน ซึ่งเกิดขึ้นในเยอรมันเป็นแห่งแรก
    2. พระประวัติ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
      • ในส่วนนี้อธิบายถึงประวัติท่านซึ่งได้แสดงข้อมูลที่บอร์ดแสดงข้อมูลภายในสถานีที่3
    3. ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสหกรณ์ในประเทศไทย
      • ในส่วนนี้อธิบายว่า “ทำไมต้องตั้งสหกรณ์ที่จังหวัดพิษณุโลก”

            ในปี 2459 เมื่อรัฐบาลได้แต่งตั้งอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ เป็นนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อให้มีอำนาจในการดำเนินจัดตั้งและรับจดทะเบียนสหกรณ์แล้ว ปัญหาที่ต้องคิดกันต่อไปคือ จะเริ่มจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในจังหวัดใดก่อนจึงเป็นการเหมาะสมและสามารถนำมาเป็นตัวอย่างที่ดีในการขยายงานให้แพร่หลายได้  ซึ่งในที่สุดได้เลือกตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในท้องที่จังหวัดพิษณุโลกเป็นการทดลองก่อน

            เหตุที่เลือกจังหวัดพิษณุโลก เพราะจากการสำรวจในขณะนั้น จังหวัดพิษณุโลกยังมีราษฎรไม่หนาแน่นและราษฎรส่วนมากเป็นคนจนเพิ่งอพยพมาจากทางใต้ เพื่อไปจับจองทำประโยชน์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่า ราษฎรเหล่านี้ไม่มีทุนเพียงพอต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายในการลงทุนทำการเพาะปลูกโดยเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ตกเป็นหนี้สินไม่อาจตั้งตัวได้ ดังนั้น การเลือกจัดตั้งสหกรณ์ประเภทหาทุนขึ้น ในท้องที่จังหวัดนี้จึงเป็นทางช่วยเหลือให้ราษฎรที่ไปตั้งหลักฐานทำการเพาะปลูกอยู่แล้วได้พอตั้งตัวได้ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบและแนวทางในการชักจูงให้ราษฎรในจังหวัดอื่นที่มีประชากรหนาแน่น อพยพไปใช้ที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์

    1. สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ จังหวัดพิษณุโลก เป็นสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
    2. 26 กุมภาพันธ์ วันสหกรณ์แห่งชาติ

กิจกรรมในจุดนี้

    • ดูคลิปวิดีโอผ่านเครื่องฉายเข้ากำแพง
    • ศึกษาข้อมูลจากบอร์ดกราฟิก
    • ตู้แสดง หนังสือจดทะเบียนสหกรณ์ฉบับแรกของประเทศไทย

บอร์ดกราฟิกแสดงข้อมูลสถานีที่ 3

จุดเรียนรู้สถานีที่ 4: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสหกรณ์ไทย

            ในจุดเรียนรู้นี้จะเป็น เคาท์เตอร์บาร์ยาว สำหรับเป็นพื้นที่ให้แก่ผู้ที่สนใจนั่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลผ่าน ระบบบนจอทัชสกรีน ซึ่งในเครื่องทัชสกรีนจะบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปกับสหกรณ์ไทย โดยมีข้อมูล ดังนี้

    • สถาบันพระมหากษัตริย์กับการสหกรณ์ไทย
    • วิวัฒนาการสหกรณ์
    • 100 ปี สหกรณ์ไทย
    • ความรู้ทั่วไปสหกรณ์
      • สหกรณ์
        • ประวัติสหกรณ์ในต่างประเทศ
        • ประวัติสหกรณ์ในประเทศไทย
      • อุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์
      • สหกรณ์ 7 ประเภท
      • การขอจดทะเบียนสหกรณ์

            เนื่องจาก ดูข้อมูลมาแล้ว 3 สถานี แนะนำให้คลิกเลือก Icon ความรู้ทั่วไปสหกรณ์ เพื่ออธิบายถึงข้อมูลที่ถูกใส่ไว้เพื่อเรียนรู้ของจุดเรียนรู้สถานีที่ 4 ซึ่งจะเกี่ยวกับการสหกรณ์ ณ ปัจจุบัน และรายละเอียดเพิ่มเติมของสหกรณ์ 7 ประเภท

กิจกรรมในจุดนี้

  • เลือกแสดงข้อมูลจากจอทัชสกรีน

จุดเรียนรู้ที่ 5: เกี่ยวกับสหกรณ์การเกษตร

            จุดเรียนรู้ที่ 5 นี้จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสหกรณ์การเกษตร ของประเทศไทย โดยนำเสนอผ่านบอร์ดข้อมูล ระบบจอทัชสกรีน และมีเครื่องโม่ข้าวในอดีต โดยนำเสนอข้อมูลดังนี้

    1. แสดงเกี่ยวกับสหกรณ์การเกษตรในอดีต นำเสนอผ่านภาพในอดีตสมัยเก่า
      1. สหกรณ์ขายข้าว ในอดีต (แสดงรูปของสหกรณ์ในอดีต)
      2. การฝึกอบรมพนักงานสหกรณ์ (แสดงรูปของสหกรณ์ในอดีต)
      3. การสัมมนากรรมการดำเนินการหรือสมาชิกสหกรณ์ (แสดงรูปของสหกรณ์ในอดีต)
    2. บริเวณบอร์ดตรงกำแพงโค้งจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ
      1. เกี่ยวกับสหกรณ์การเกษตรและประวัติความเป็นมา
      2. วัตถุประสงค์ของสหกรณ์การเกษตร
      3. ทำไมต้องจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร…?
      4. หลักเกณฑ์การจัดตั้ง สหกรณ์การเกษตรโดยทั่วไป
      5. จะจัดตั้งสหกรณ์ การเกษตร ได้อย่างไร ?
    3. เรียนรู้ผ่านระบบจอทัชสกรีน
      1. ระบบทัชสกรีนเครื่องที่ 1 แสดงข้อมูลเกี่ยวกับสหกรณ์ในประเทศไทย ความหมาย การจัดตั้งสหกรณ์
      2. ระบบทัชสกรีนเครื่องที่ 2 เป็นการเรียนรู้ผ่านเกม โดยโยงเอาเกี่ยวกับเรื่องข้าวมาสร้างเป็นเกมให้มีส่วนร่วมกับผู้เยี่ยมชมศูนย์
      3. ระบบทัชสกรีนเครื่องที่ 3 เป็นการเรียนรู้กิจกรรมในนาข้าวในความรู้กว่าจะมาเป็นข้าวเปลือก โยงมาที่บอร์ดข้อมูลกว่าจะเป็นข้าวสาร และโยงไปจนถึงตู้ส่องข้าวเป็นได้เป็นข้าวสารที่ถูกขัดหรือแปรรูปมาจำหน่าย

หมายเหตุ ก่อนเดินเชื่อมมายังสถานีที่ 5 นี้จะเจอบอร์ด สหกรณ์ เป็นของสมาชิก โดยสมาชิก และเพื่อสมาชิก อยากให้หยุดเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงคำว่าสหกรณ์

กิจกรรมในจุดนี้

    • เรียนรู้ผ่านจอทัชสกรีนเพื่อศึกษาข้อมูลแบบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม โดยมีทั้งหมด 3 เครื่อง
    • เครื่องโม่ข้าวโบราณที่สามารถทดลองสีข้าวได้ แสดงถึงการนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารและใช้เป็นจุดถ่ายภาพที่ระลึก
    • ตู้ส่องข้าวที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด นำมาจัดวางในตู้แล้วใช้แว่นขยายส่องเพื่อดูรูปแบบของข้าวชนิดต่างๆ สร้างความสนใจและสามารถไปซื้อของจริงที่ศูนย์ขายข้าวได้

บอร์ดแสดงข้อมูลกราฟิกของสถานีที่ 5 (ฝั่งพาร์ติชั่นโค้ง)

บอร์ดแสดงข้อมูลกราฟิกของสถานีที่ 5 (ฝั่งผนังปูนติดฝั่งแอร์)

จุดเรียนรู้ที่ 6: ห้องฉายภาพยนตร์

            จะอธิบายว่าเป็นที่ใช้ในการฉายหนังสั้น หรือภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์ การศึกษาดูงาน และเป็นห้องที่ใช้ประยุกต์เป็นการจัดนิทรรศการเคลื่อนไหวในอนาคต

กิจกรรมในจุดนี้

            นำ VDO ที่เกี่ยวข้องมาเปิดเพื่อเรียนรู้ เกี่ยวกับคณะที่มาดูงานในวันนั้น ๆ ปัจจุบันบรรจุ VDO ที่ดูงานเกี่ยวกับที่ต่างประเทศได้มาจากท่านประธาน